ชื่อ: วัดกู่เสี้ยว
4 ก.ค. 2565
รายละเอียด:
วัดกู่เสี้ยว
ที่ตั้ง
วัดกู่เสี้ยว ตั้งอยู่ที่บ้านเชียงราย หมู่ที่ 8 ต.ดู่ใต้ อ.เมืองน่าน จังหวัดน่าน มีทำเลที่ตั้งติดริมแม่น้ำน่าน อยู่ใกล้แนวเขตพระราชฐาน พระตำหนักธงน้อย ด้านหน้าติดแม่น้ำน่าน มีกำแพงพระยานาคคู่ ชูคอเป็นประตูทางเข้าและเป็นกำแพงแนวกั้น ด้านหน้ามีเส้นทางพระดำเนินฯ
ประวัติ
มีการเล่าขานแบบปากต่อปากว่าเป็นวัดเก่าที่ถูกทิ้งร้างไว้นับร้อยปี พระสมุห์จิรพงศ์ ชยาลังกาโร กล่าวว่าตามตำนานวัดนี้ปรากฏในกฎหมายของอาณาจักรหลักคำที่ได้บันทึกไว้เป็นตัวภาษาล้านนาหรือตั๋วเมือง ได้กล่าวถึงชื่อวัดเสี้ยวหรือวัดกู่เสี้ยว“เพียงแต่ว่าเรือไหลลุกต่าเวียงมาถึงต่าบ้านดู่ วัดเสี้ยวให้ไถ่เอาจำนวน 5 เงินท๊อก ในมาตราเงินสมัยนั้น” ตามประวัติที่ได้ศึกษามาทราบว่า วัดนี้มีเจ้าอาวาสรูปแรกมาจากศรีลังกา ชื่อครูบาอโนชัย ได้มาก่อตั้งวัด ณ ที่แห่งนี้ ซึ่งอยู่ในสมัยของพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช สำหรับวัดกู่เสี้ยวมีเจ้าอาวาสรวม 3 รูป โดยขณะนั้นเป็นวัดหน้าด่าน เจ้านายหรือใครก็ตามที่จะเข้ามาเข้าสู่ตัวเมืองน่าน ก็จะมาตั้งพลับพลา เสนา อามาตย์ก็ต้องมาพักที่นี่ รวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าก็จะมาพักเช่นกัน ซึ่งจะสังเกตุได้จากกรมศิลป์ฯมาขุดค้นก็พบซากคนโทหรือน้ำต้น ซึ่งเป็นของสำคัญในอดีตที่บ่งบอกว่ามีคนมาจากหลายถิ่น ทั้งสิบสองปันนา พะเยา ลำพูน คาดว่าพ่อค้าอาจจะนำมาถวายให้ครูบาใช้ซึ่งมี 3 รูปเท่านั้นก็ทิ้งร้างไป ส่วนชาวบ้านได้อพยพออกไปตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดู่หรือบ้านเชียงรายที่เกิดขึ้นทีหลัง บ้านเสี้ยวซึ่งเรียกชื่อตามลำห้วยก็เลยหายไป ส่วนกู่และศิลปวัฒนธรรมต่างๆเป็นศิลปะเชียงแสน ซึ่งหลักฐานของวิหารวัดกู่เสี้ยวพบจากอิฐมอญปูพื้นวิหาร บันทึกปีที่สร้างไว้ ซึ่งคิดรวมแล้วสร้างมาประมาณ 154 ปี และถูกปล่อยทิ้งร้างมานานมาก นอกจากนี้ยังพบเงินท๊อกโบราณอีกจำนวน 5 คนโทดินเผา ซึ่งขณะนี้ได้เก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของหมู่บ้านต่อไป ส่วนพระที่ขุดได้เป็นพระรุ่นใหม่ที่มีคนนำมาฝังไว้ภายหลังยังไม่ใช่ของเก่าจริงๆ แต่ว่าของเก่าจริงๆตามประวัติจะฝังห่างออกจากกู่ประมาณ 1 เมตร ซึ่งเคยมีคนมาขุดขึ้นมาแต่เกิดอาเพศจึงเอามาฝังคืน ขณะนี้ยังไม่ได้ขุดขึ้นมา แต่ทางกรมศิลป์ฯได้ทำเครื่องหมายไว้แล้ว เพื่อจะขุดพิสูจน์ดูว่าจะมีพระอยู่จริงตามคำบอกเล่าหรือไม่
ปัจจุบันทางสำนักศิลปากรที่ 7 น่าน ได้เข้ามาทำการศึกษาและบูรณะซ่อมแซมตามโครงการขุดแต่งศึกษาโบราณสถานวัดกู่เสี้ยว(ร้าง) โดยมี พระสมุห์จิรพงศ์ ชยาลังกาโร เป็นเจ้าอาวาสร่วมกับชาวบ้านช่วยกันบำรุงรักษา เพื่อที่จะฟื้นฟูให้เป็นสถานที่ทางวัฒนธรรมเก่าแก่ ที่มีรูปแบบและกิจกรรมของวัดเสมือนในสมัยโบราณ
ส่วนพระธาตุไชยชนะ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2550 เหตุที่ตั้งชื่อเป็นพระธาตุไชยชนะ เนื่องจากช่วงนั้น3จังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหากัน ทางคณะสงฆ์พร้อมชาวบ้านจึงอยากให้ในหลวงมีชัยชนะต่ออริราชศัตรูและอีกอย่างหนึ่งชื่อก็ตรงกับฉายาของท่านเจ้าอาวาส ไหว้สักการะบูชาแล้วให้เกิดชัยชนะ มีสิริมงคลเกิดกับตัวเอง ทำการทำงานอะไรก็จะมีแต่ชัยชนะ โดยขณะนี้มีการสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นศิลปะเมืองน่านผสมไทยลื้อ ก็แล้วแต่จิตศรัทธาว่าใครจะมาร่วม ซึ่งก็มีมาจากกรุงเทพบ้างต่างประเทศบ้าง ในอนาคตข้างหน้า ก็มีโครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อมาเที่ยวชมศิลปวัฒนธรรม และมาร่วมกันฟื้นฟูประเพณีการสืบชะตา ซึ่งทางวัดจะมีการรวบรวม “ภูมิปัญญาชีวิต ความคิดของคนเมืองน่าน” เช่นสิ่งของโบราณจะเก็บไว้ที่นี้
facebook : วัดกู่เสี้ยว
รูปภาพ/ไฟล์เอกสาร